ข้อมูลดังกล่าวเปิดเผยในบล็อก Google Books พร้อมทั้งอธิบายเบื้องหลังวิธีนับให้ทราบด้วย โดยทางบริษัทเริ่มต้นด้วยการนิยามสิ่งที่เรียกว่า "หนังสือ" ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบทความ ผลงานลักษณะต่างๆ และรูปแบบของงานเขียนที่ปรากฎในลักษณะที่เป็นสิ่งพิมพ์ จากนั้นระบบจะลบข้อมูลที่ซ้ำกันออก โดยใช้"ข้อมูล"ของข้อมูล (metadata) จากห้องสมุดต่างๆ และแคตะล็อกที่มีการคัดกรองจากพันล้านรายการเหลือ 600 ล้านรายการไม่ซ้ำกัน นอกจากนี้ยังมีการลดข้อมูลซ้ำด้วยอัลกอริธึมที่สามารถแยกแยะหนังสือที่ชื่อปกต่างกัน แต่เนื้อในเหมือนกันได้อีกด้วย ซึ่ง Google ยังคงปรับปรุงอัลกอริธึมของการทำงานให้มีความถูกต้องแม่นยำมากขึ้น แน่นอนว่า แต่ละครั้งของการนับก็จะได้คำตอบที่แตกต่างไปจากเดิมด้วย
"คำตอบเปลียนทุกครั้งที่มีการคำนวณใหม่ เนื่องจากการได้รับข้อมูลใหม่ที่มากกว่าเดิม เพื่อเข้าไปปรับปรุงอัลกอริธึม ซึ่งตัวเลขล่าสุดทีได้จากการใช้อัลกอริธึมดังกล่าวอยู่ที่ประมาณ 210 ล้านไตเติล" Google กล่าว อย่างไรก็ดี หลังจากเพิ่มอัลกอริธึมการลบข้อมูลซ้ำของหนังสือที่บันทึกในฟอร์แมตขนาดเล็กเช่นไมโครฟิล์ม และแผนที่ออกไปตัวเลขที่ได้ล่าสุดอยู่ที่ 129,864,880 ไตเติ้ล ซึงในการกลไกการนับยังเลือกที่จะไม่ใช้หมายเลข serial ด้วย เนื่องจากมันทำให้ได้ข้อมูลไม่ถูกต้อง เหตุเพราะแต่ละสถาบันจะมีการทำตัวเลขนี้แตกต่างกันไป Google ค่อนข้างมั่นใจว่า ตัวเลขล่าสุดคือ จำนวนไตเติ้ลของหนังสือทั้งหมดที่มีการตีพิมพ์ทั่วโลก สำหรับการนับจำนวนหนังสือทั้งโลกในครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ Google Books ที่ยังคงไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีปัญหาเรื่องลิขสิทธิ์ของผู้ถือครอง โดยเฉพาะเมื่อมันถูกแปลงเป็นไฟล์ดิจิตอลที่ยังไม่ได้รับการอนุญาตให้ไปเผยแพร่ได้ ตราบใดที่ Google ไม่สามารถอธิบายต่อศาลได้ว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร อีกทั้งโปรเจ็กต์ดังกล่าวยังเสี่ยงต่อการผูกขาดการค้าอีกด้วย
ข้อมูลจาก: InsideGoogleBooks