Lawrence Schwartz ผู้อยู่เบื้องหลังเทคโนโลยี E-Ink จอสีแบบใหม่จากบริษัท Triton ซึ่งใช้กับเครื่องอ่านอีบุ๊คจอสีของ Hanvon กล่าวว่า อีอิงค์จอสี (Color E-Ink) จะทำให้ระบบนิเวศน์ของหน้าจอแสดงผลที่สามารถใช้อ่านแทนหนังสือได้แผ่ขยายออกไปกว้างขวางยิ่งขึ้น "องค์ประกอบสำคัญของเทคโนโลยีนี้ก็คือ การใช้จอแสดงผลอีอิงค์ขาว-ดำปิดทับขึ้นไปด้วยแผ่นฟิล์มที่ทำหน้าที่กรองสี (color imaging film) อีกชั้นหนึ่ง โดยมีแสงสว่างจากธรรมชาติช่วยสะท้อนสีสันบนหน้าจอให้ผู้ใช้ได้มองเห็น" ความหมายก็คือ อีอิงค์ขาวดำจะทำหน้าที่กำหนดระดับความทึบ หรือสว่างของสีในแต่ละพิกเซลบนแผ่นกรองสี RGB(W) ที่ปิดทับอยู่อีอิงค์ขาวดำ ซึ่งแสงสว่างที่ตกกระทบจะสะท้อนสีขึ้นมาตามระดับความทึบสว่างของแต่ละพิกเซล ทำให้ผู้ใช้มองเห็นสีที่แตกต่างกัน
Schwartz ย้ำว่า ทางบริษัทมุ่งเน้นที่จะพัฒนาหน้าจออีอิงค์ที่มีความคมชัดสูง และใช้พลังงานต่ำสำหรับการอ่าน แม้เนื้อหาส่วนใหญ่จะเป็นขาวดำ แต่การที่ e-ink สามารถแสดงสีได้ จะทำให้ภาพปก ตลอดจนหนังสือนิทาน หรือการ์ตูนสำหรับเด็ก รวมถึงหนังสือพิมพ์หัวสี และตำราต่างๆ ที่ต้องการภาพประกอบสี มีความน่าสนใจได้มากกว่าการมองเห็นเป็นภาพขาวดำ ซึ่งข้อได้เปรียบของ Color E-Ink ก็คือ การที่มันสามารถแสดงได้ทั้งสี และขาวดำนั่นเอง อย่างไรก็ตาม Color E-Ink ยังคงมีข้อด้อยเรื่องความช้าในการแสดงผล โดยในขณะที่การแสดงภาพในโหมดขาวดำจะมีอัตรารีเฟรช 240 มิลลิวินาที (แสดงภาพต่อเนื่องได้ประมาณ 4-5 ภาพต่อวินาที) แต่ถ้าเป็นภาพสีจะต้องใช้ถึง 1 วินาทีเต็ม การรีเฟรชของหน้าจอ Color E-Ink จะต่างจาก LCD ตรงที่มันไม่จำเป็นต้องอัพเดตทั้งหน้าจอ สำหรับความท้าทายของเทคโนโลยี Color E-Ink ก็คือ การพัฒนาอินเตอร์เฟซ"มัลติทัช"กับจอแสดงผลชนิดนี้ ไม่แน่ว่า ปีหน้าเราอาจจะได้เห็น Kindle Color ก็ได้
ข้อมูลจาก: toptechnews
แสดงบนเว็บไซด์ : http://www.it4x.com
ที่อยู่ของข้อความต้นฉบับ: http://arip.co.th/news.php?id=412618