แม้ว่ากระแส K-pop จะถาโถมเข้ามาลูกแล้วลูกเล่า จนดึงเหล่าวัยทีนของบ้านเราไปเป็นแฟนคลับอย่างแข็งขัน ทั้งในมุมบอยแบนด์, เกิร์ลแก๊ง, ซีรีส์ ไปจนถึงเทคโนโลยี
จนวันนี้เมื่อพูดถึงชื่อ ดงบังชินงิ, 2PM, เรน, เกิร์ลส์”
เจเนอเรชั่น, วันเดอร์ เกิร์ล, โทรศัพท์มือถือ LG และของ
อิมพอร์ตจากเกาหลีอีกมากมาย หากไม่เคยได้ยินชื่อเหล่านี้ ต้องเช็กสัญญาณสื่อที่บ้านท่านแล้วว่ามีปัญหาหรือไม่ ? เพราะเป็นเรื่องที่ใคร ๆ เขาก็พูดกัน
แถมยังมีกระแส J-pop ที่แอบกระแซะเข้ามาเรื่อย ๆ เรียง ๆ มานานนมแล้ว ที่ผ่านมาเขาก็เอาสาวน้อย Berryz Kobo มาเต้นและร้องเพลง “เจงกิส ข่าน” อันลือลั่นให้แฟนคลับที่เมืองไทยฟังอย่างไรล่ะ
แต่ภายใต้กระแสเหล่านี้ หลายคนอาจจะคิดว่าวงการเพลงพ็อปวัยทีนฉบับไทยทำ ไทยใช้ จะสูญหายไปแล้ว แต่ขอบอกเลยว่า อันที่จริงแล้ว T-pop หรือ Thai-pop ของบ้านเราก็ยัง never die ที่นอกจากไม่มีวันตายแล้ว ยังมีแนวทางการเติบโตและการปรับโฉมอย่างน่าสนใจ
ว่าแต่จะเติบโตและปรับรูปโฉมเช่นไร ลองติดตามกันดู
หลบหน่อย…T-pop มาแล้ว !
ชมพู ฟรุตตี้…คนปั้นพ็อป มอง “พ็อปไทย”
สุทธิพงษ์ วัฒนจัง หรือที่รู้จักกันดีในชื่อของ ชมพู ฟรุตตี้ เขาคนนี้คือตำนานที่มีชีวิตของวงการเพลงพ็อปเมืองไทย
เขาเป็นอดีตมือกีตาร์และนักร้องนำของ
วงฟรุตตี้ วงดนตรีสตริงชื่อดังของไทยยุค 80 ของค่ายอาร์เอส และได้ผันตัวเองมาเป็นนักปั้นศิลปินพ็อปโดยมีผลงานชิ้นโบแดง นั่นคือการผลิตศิลปินวัยทีนภายใต้สังกัดย่อย กามิกาเซ่ ของอาร์เอส ขึ้นมา
หลังจากที่อยู่กับอาร์เอสมาเป็นสิบปี ในตอนนี้ ชมพูได้ย้ายชายคาไปอยู่ที่โซนี่ มิวสิค ในตำแหน่ง Executive Director-Content ผลงานของเขาที่จะเห็นในระยะเวลาอันใกล้นี้ก็คือ การปั้นศิลปินเกิร์ลแก๊ง เพื่อขยายฐานกลุ่มคนฟังให้กับค่ายโซนี่ฯ ซึ่งปกติถูกมองว่าผลิตงานเพลงสำหรับผู้ใหญ่เป็นหลัก ลองติดตามกันดูว่า กลุ่มคนฟังที่เด็กลงของค่ายโซนี่ฯจะตอบรับศิลปินเบอร์ใหม่ของโซนี่ฯอย่างไร ?
ในฐานะผู้คร่ำหวอดในวงการเพลงพ็อปไทย ชมพูมองกระแสของวงการนี้ว่า
“วงการพ็อปในเมืองไทย พื้นฐานของดนตรีเพลงพ็อปในเมืองไทย เราไม่ได้คิดเอง เราตามกระแสของต่างประเทศ อย่างยุควงอิมพอสซิเบิ้ลเอง ก็ใช้ทำนองดนตรีต่างประเทศเยอะ ทิศทางดนตรีที่มีอิทธิพลในยุคนั้นก็จะไปทางดนตรีฝรั่ง ต่อมาเป็นยุคของแกรนด์เอ็กซ์ ดนตรีก็ปรับเปลี่ยนไป มีเครื่องเป่า ส่วนของดนตรีก็เข้มข้นขึ้น พอมาถึงวงชาตรี ก็จะเป็นยุคที่ดนตรีโฟล์ก ได้รับอิทธิพลมาจากวงดนตรีอย่าง ไซม่อน แอนด์ การ์ฟังเกล เข้ามา พอมาถึงยุคฟรุตตี้ ก็เป็นไปตามกระแสโลกเหมือนกัน เป็นแนวดนตรีของเอเชียและอเมริกา หรือวงอย่าง สาว สาว สาว กับสามหน่อ ได้รับอิทธิพลมาจาก โชโจไต โชเน็นไต ของญี่ปุ่น มาถึงยุคแร็พเตอร์ ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง ยุคนั้น
ฮิปฮอปกำลังเข้ามาในเมืองไทย ดนตรีแนวนี้เลยเป็นที่นิยม หรืออย่างเทรนด์ในตอนนี้ นอกจาก K-pop และ J-pop จะเป็นที่นิยมของชาวเอเชียแล้ว เพลงฝรั่งโดยศิลปินวัยรุ่นฝรั่งเริ่มมา อย่างที่เราเห็นกระแสของเลดี้ กาก้า หรือ ไมลี ไซรัส…
…เพราะฉะนั้น จริง ๆ แล้วมองไม่ยากหรอกครับว่า กระแสของเพลงพ็อปไทยจะเป็นอย่างไร ก็มองในกระแสเพลงของต่างประเทศ เราก็พอจะคาดเดาได้ในระดับหนึ่ง 60-70% ที่เหลือก็จะต้องมาดูว่า แล้วเพลงที่เกิดขึ้นทุกมุมของโลกมีแนวเพลงแบบไหนบ้างที่ตรงกับจริตของคน เอเชียหรือไทย แนวนั้นก็จะได้รับความนิยมสูงหน่อย ยกตัวอย่าง เรกเก้ สกา ละติน ก็เกิดขึ้นมาเยอะ แต่สังเกตไหมครับว่าไม่เคยเกิดเป็นกระแสใหญ่ในเมืองไทยเลย เพราะว่าเพลงแนวนั้นไม่ตรงจริตหรือวัฒนธรรมของเพลงไทย หรืออาจซับซ้อนกว่าที่เราจะเข้าใจได้อย่างลึกซึ้ง อย่างตอน 10 ปีที่แล้ว แนวเพลงละตินดัง มีคนถามว่าแล้วแนวละตินจะมาเมืองไทยไหม ตอนนั้นผมยืนยันหัวเด็ดตีนขาดว่า แนวละตินไม่มีทางมาเป็นเมนของเพลงพ็อปในเมืองไทยได้แน่ เพราะไม่แมตช์กับนิสัยคนไทย”
ถึงจะตามกระแสดนตรีของโลก แต่ชมพูยังยืนยันว่า อย่างไรเสียเราก็สามารถปรับกลิ่นให้เป็น T-pop ได้
“ผมมองว่าดนตรีที่จะมาเป็นเพลงพ็อปกระแสหลักของบ้านเรา มองไม่ยาก ให้มองสิ่งรอบตัวที่เป็นเทรนด์ในโลก พอแยกแยะจะเห็นว่ามีดีเทลของเพลงที่คนไทยรับได้ คือถ้ามีประสบการณ์มากพอจะมองเห็นว่าแนวไหนไปได้ มาถึงวันนี้เพลงพ็อปไทยก็ตามกระแสไป แต่สิ่งที่มีอยู่ก็คือตลอดเวลาที่ตามกระแสดนตรีไปจะมีความเป็นตัวตนของเรา อยู่ อย่างศิลปิน คนทำงานเพลง มีจินตนาการผสมความเป็นไทยลงไป ไม่จำเป็นต้องนุ่งผ้าขาวม้านะ ถึงจะเป็นไทย แต่หมายความว่าบางครั้งเรื่องราวในเนื้อเพลงก็บอกถึงความเป็นไทยได้แล้ว เพราะมันบอกถึงไลฟ์สไตล์ ทัศนคติต่าง ๆ ของเราเข้าไป นั่นล่ะคือ
T-pop แบบไทย ซึ่งยังไงก็คงจะไม่มีวันตาย เพราะมันถูกปรับเปลี่ยนไปเรื่อยตามยุคสมัย”
อาร์เอส T-pop…จากฟรุตตี้ถึงกามิกาเซ่
“ยุคนั้นเรายังไม่มีการทำรีเสิร์ช เราทำจากประสบการณ์และสิ่งที่เราได้สัมผัส เสี่ยงหรือไม่เสี่ยงไม่มีใครบอกได้ เพียงแต่เรามองว่าจริง ๆ ตลาดนี้มันมีอยู่ แต่ตอนนั้นมันผสมกันอยู่ เราสังเกตได้จากเวลาอาร์เอสจัดคอนเสิร์ต คนที่มาจะหลากหลาย เราจะเห็นทั้งคนทำงาน ทั้งเด็กวัยรุ่นผู้หญิงผู้ชายมากันเยอะเลย เราก็เลยคิดว่าเราจะแยกเด็กกลุ่มนี้ออกมาชัด ๆ ความเสี่ยงมันอยู่ที่ว่าตลาดใหญ่จริงไหม เป็นตลาดที่มีศักยภาพจริงหรือเปล่า” (จากนิตยสาร a day ฉบับเดือนกรกฎาคม 2550)
นี่คือบทสัมภาษณ์จาก เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ที่ปัจจุบันบริษัทนี้ดูแลธุรกิจบันเทิงครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นรายการวิทยุ โทรทัศน์ รวมไปถึงภาพยนตร์ แต่อย่าลืมว่าธุรกิจที่อาร์เอส บุกเบิกและยังมีอยู่จนถึงปัจจุบัน คือธุรกิจดนตรี โดยเฉพาะดนตรีเพลงพ็อปวัยรุ่น
เมื่อกาลเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน พิสูจน์ให้เห็นว่าการตัดสินใจของอาร์เอสนั้นไม่ผิดพลาด ตลาดเด็กวัยรุ่นเป็นตลาดที่ใหญ่มากจริง ๆ
ไล่มาตั้งแต่อาร์เอสในรูปแบบ บริษัท อาร์.เอส.ซาวด์ จำกัด ในปี 2525 ที่ผันตัวเองมาทำเพลงวัยรุ่นอย่างเต็มตัว โดยมีวงอย่าง ฟรุตตี้, คีรีบูน, ซิกเซนต์, บรั่นดี และเรนโบว์ เป็นวงยอดนิยมในขณะนั้น
จนมาถึงยุคโคตรพ็อปไอดอลที่เริ่มต้นในปี 2535 ในตอนที่อาร์เอสเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท อาร์.เอส. โปรโมชั่น 1992 จำกัด ในยุคนี้ได้ผลิตศิลปินวัยทีนสไตล์ T-pop ออกมามากมาย อย่างเช่น ทัช ณ ตะกั่วทุ่ง, บอยสเก๊าท์, เต๋า สมชาย, นุ๊ก สุทธิดา, จอนนี่-หลุยส์ แร็พเตอร์, ศรราม เทพพิทักษ์, ลิฟท์-ออย, เจมส์ เรืองศักดิ์, โดม-ปกรณ์ ลัม, เจอาร์-วอย, ราฟฟี่-แนนซี่ มาจนถึงดีทูบี ในยุคนี้สามารถวัดรายได้จากยอดขายซีดีและเทปคาสเซตได้อย่างชัดเจน จึงไม่น่าแปลกใจว่าศิลปินแต่ละเบอร์จะทำยอดขาย “ล้านแล้วจ้า” จนกลายเป็นเรื่องปกติ
มาถึงวันนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวไปไกลกว่ายุคแอนะล็อกก่อนหน้านี้ แถมไลฟ์สไตล์วัยรุ่นในยุคสมัยปัจจุบันมีความชอบที่หลากหลาย ชอบเร็ว เบื่อเร็ว อยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตเป็นหลัก ความจริงที่ว่าปรากฏการณ์ “ล้านแล้วจ้า” ในวงการ T-pop จึงเกิดขึ้นได้ยาก ยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร
ดังนั้นอาร์เอสในยุคปัจจุบัน ที่กลายเป็น บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ได้ตีโจทย์ข้อนี้ออกมาเป็นกระบวนการการสร้างกลุ่มศิลปินวัยรุ่นสังกัดค่าย เพลงย่อยที่มีชื่อว่า
“กามิกาเซ่” (Kamikaze)
หทัย ศราวุฒิไพบูลย์ Creative Group Head ของค่ายกามิกาเซ่ ได้พูดถึงความคิดแรกเริ่มก่อนที่จะเปิดตัวกลุ่มศิลปิน “กามิกาเซ่” ไว้ว่า
“ครั้งแรกที่เราคิดจะทำกามิกาเซ่ เรามาคิดว่าทำไมยุคนี้ วัยรุ่นไม่มีเพลงของเขา
จริง ๆ ทั้งตัวศิลปิน ภาษา คำศัพท์ที่เขาใช้ เราน่าจะทำเพลงคนรุ่นเขา เกี่ยวกับเรื่องราวของวัยเขา ซึ่งกลุ่มคนฟังของเราจะอยู่ที่ประมาณ 13-18 ปี ซึ่งอยากให้คนฟังมองว่านี่คือเพื่อนของเขามากกว่า”
เมื่อคิดเรื่องกลุ่มเป้าหมายได้แล้ว ทางอาร์เอสจึงหาข้อมูลว่า วัยรุ่นยุคนี้มีความต้องการอย่างไร มีไลฟ์สไตล์แบบไหน เที่ยวที่ไหน ช็อปปิ้งที่ไหน ไลฟ์สไตล์การแต่งตัวเป็นอย่างไร และก็ดึงสิ่งที่ต้องการออกมานำเสนอผ่านตัวศิลปินในค่ายกามิกาเซ่
ในช่วงปี 2549 จึงมีเด็กรุ่นใหม่มากมายที่เข้ามายังฝ่ายพัฒนาและคัดเลือกศิลปินของอาร์เอส แล้วในปีต่อมา วันที่ 29 มีนาคม 2550 จึงมีการเปิดตัวครั้งยิ่งใหญ่ของกลุ่มศิลปินกามิกาเซ่ กว่า 20 ชีวิต ที่ลานพาร์ค พารากอน
ถึงวันนี้ผ่านมาได้ 3 ปีกว่าแล้ว กามิกาเซ่ได้ผลิตศิลปิน
T-pop ออกมามากมาย อย่างเช่น เฟย์ ฟาง แก้ว, K-otic, โฟร์-มด, พายุ, ขนมจีน, Mila, หวาย, Siska, Neko Jump, Chilli White Choc แถมในปีนี้ยังมีศิลปินกามิกาเซ่ชุดที่สองคลอดออกมาแล้ว รวมกันทั้งแก๊งก็ประมาณ 40 กว่าคน หากยังไม่รู้จักพวกเธอหรือพวกเขา ลองถามน้อง ๆ หนู ๆ วัยมัธยมดู จะได้รับคำตอบพร้อมกับเสียงกรี๊ดกร๊าดเชียวล่ะ
นอกจากติดตลาดในเมืองไทยแล้ว ศิลปิน T-pop ของ
กามิกาเซ่ ยังโกอินเตอร์ฯไปสร้างกระแส T-pop พอสมควร อย่างขนมจีนก็ได้เป็นตัวแทนศิลปินไทยโชว์ในงานเฉลิมฉลองนับถอยหลัง 1 ปี สู่เอเชียนเกมส์ ณ กว่างโจว ประเทศจีน ส่วน Neko Jump ในตอนนี้กำลังทำอัลบั้มภาษาญี่ปุ่นกับค่ายคิง เรคคอร์ด ค่ายเพลงใหญ่ของญี่ปุ่น และวง K-otic ก็ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยร่วมงาน Asia Song Festival ที่เกาหลีใต้
“ผ่านมาได้ 3 ปีแล้วสำหรับกามิกาเซ่ เรามีแฟนเพลงที่แข็งแรงในกลุ่มเป้าหมายเราประสบความสำเร็จ เข้าไปสู่ตลาดได้อย่างเต็มที่ ผลตอบรับดี ทุกคนรู้ว่ากามิกาเซ่คือค่ายเพลงวัยรุ่น เราวางตัวตลอดว่าเราไม่ใช่แค่ค่ายเพลง เราคือค่ายวัยรุ่น” หทัยสรุปภาพของค่ายกามิกาเซ่ในวันนี้
นี่หละประวัติของดนตรีT-Popที่คนไทยควรได้รู้