โซฟอส (Sophos) กล่าวว่า ทางบริษัทได้ตรวจสอบพบเว็บไซต์หลายแห่งที่ได้รับการออกแบบให้สามารถแพร่กระจายโค้ดอันตรายติดเข้าไปในเครื่องคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ด้วยการแสดงผลบนหน้าจอว่า ทางเว็บไซต์กำลังสแกนไวรัสบนคอมพิวเตอร์ของคุณ จากนั้นก็จะแจ้งให้ทราบว่า พบไวรัสแพร่กระจายอยู่เต็มเครื่อง พร้อมทั้งแสดงปุ่มที่ด้านล่างของหน้าจอว่า "Start Protection" ซึ่งหากผู้ใช้ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์คลิกบนปุ่มดังกล่าว มันจะติดตั้งแอนตี้ไวรัสปลอมเข้าไปในเครื่อง เพื่อใช้ล้วงข้อมูลสำคัญๆ ของคุณออกไปได้ในภายหลัง ทั้งนี้เป้าหมายของแฮคเกอร์เพ่งเล็งไปที่ผู้ใช้บราวเซอร์ Firefox
นอกจากจะมีการตรวจพบเว็บไซต์แพร่กระจายไวรัสในลักษณะข้างต้นแล้ว ทางบริษัทยังพบการใช้ Microsoft Update ปลอมในการแพร่กระจายไวรัสด้วย โดยเมื่อผู้ใช้เข้าไปในเว็บไซต์ที่ใช้แพร่โค้ดอันตราย หน้าจอจะแสดงผลขึ้นมาเหมือนกับหน้าจอ Microsoft Update ซึ่งความจริงมันเป็นของปลอม ประเด็นคือ เทคนิคการโจมตีจะเกิดขึ้นกับผู้ใช้บราวเซอร์ Firefox เท่านั้น แต่หากคุณผู้อ่านติดตามข่าวสารเป็นประจำคงจะทราบดีว่า Microsoft Update จะทำงานได้บน Internet Explorer เท่านั้น ดังนั้นอัพเดทที่เห็นจึงเป็นของปลอมแน่ๆ อย่างไม่ต้องสงสัย อย่างไรก็ตาม หากคุณผู้อ่านไม่ทันระวังตัว เผลอคลิกปุ่มติดตั้งอัพเดทปลอมเข้าไป มัลแวร์ก็จะถูกติดตั้งเข้าไปในเครืองของคุณทันที!!!
ข้อมูลจาก: Sophos
แสดงบนเว็บไซด์ : http://www.it4x.com
ที่อยู่ของข้อความต้นฉบับ: http://www.arip.co.th/news.php?id=413811